วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

“น้ำ” แม่พระคงคาสร้างคุณค่าแห่งความสมดุล

อุทกภัยที่เกิดขึ้นที่จริงไม่ใช่ไม่เคยเกิด หลายจังหวัดเจอะเจอจนคุ้นชิน ไม่ว่าจะนครสวรรค์ อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี นนทบุรี ประทุมธานี ราชบุรี ไม่มากเหมือนปีนี้ที่เกินคาดการณ์ เมื่อก่อนในฤดูน้ำหลาก บ้านที่ราชบุรี เป็นบ้านชั้นเดียวสมัยเก่าไต้ถุนสูง(ประมาณ ๒ เมตร) สี่สิบปีที่ผ่านมาน้ำท่วมทุกปีสูงแค่อก(๑.๕ เมตร) บางปีจมมิดหัว หรือนั่งบนบ้านหย่อนเท้าลงแช่น้ำพอดี มาช่วงหลังๆ น้ำท่วมแค่พื้น ดินพอแฉะ ๆ สองสามวันก็หาย คลองที่เคยใช้สัญจรจึงหมดความสำคัญ ถูกถมเป็นถนน ที่คงเหลือโคลนดินทับถมตื้นเขิน ไม่โกย ขุด ลอก เหมือนเมื่อก่อน คลองจึงเล็กกลายเป็นอุปสรรค์เมื่อน้ำหลาก น้ำใกล้มาสัญญาณเตือนฤดูฝนเบาบาง น้ำหลากสีขุ่นแดง สมัยนี้กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนแทน... “แม่”หาซื้อเตรียม “ชัน” “น้ำมันยาง” และ “ด้ายดิบ” ชุบน้ำมันยาง เรียกว่า “หมัน”(สมัยโบราณใช้เปลือกไม้ทุบเป็นเส้นเล็กๆ ชุบน้ำมันยาง)ตอกอัดตามแนวไม้หดตัว ยาด้วยชันผสมน้ำมันยางผสมปูนแดง(กินกับหมาก)ใช้ไม้คนจนข้นเหนียวได้ที่ ใช้นิ้วชี้ป้ายยาตามแนว กดรีดให้เรียบด้วยนิ้วหัวแม่มือทั้งข้างนอกและข้างใน...ได้แนวยาเรือที่สวยงามเรียบแน่นสนิท เสร็จแล้วชโลมด้วยน้ำมันยางทั้งลำเรือ ปล่อยทิ้งให้แห้ง ได้พาหนะพาไปไหนต่อไหน แม่ไม่ลืมชโลมน้ำมันยางกับพายด้วย ทำให้ทั้งเรือและพายใหม่สวยงามคงทน เอาไว้อวดในวันพระ แม่ และยาย พาผมและพี่น้องไปใส่บาตรที่วัด บางปียาแนวไม่ทันแห้ง น้ำหลากมาเร็ว ฝนตกมาก น้ำล้นเขื่อน ปล่อยออกมาเร็วกว่าปกติวันเดียวท่วมจนกลับจากโรงเรียนเดินเข้าบ้านไม่ได้ แม่ต้องเอาเรือลงไปรอรับ พายลัดเลือกสวนที่เคยเป็นคันดินเดิน พอขึ้นจากเรือ เราต่างร้องกันขรม เพราะน้ำมันยางเปื้อนกางเกงที่แม่ตัดให้บริเวณก้น และด้านข้าง เพราะนั่งชิดแคมเรือ เป็นสัญญลักษณ์ให้รู้ว่าปีนี้น้ำมาเร็ว (แม่ซื้อผ้าหน้ากว้างตัดได้ครั้งละ ๖ ตัวแบ่งพี่น้องที่เป็นผู้ชายทั้งหมด โดยกรอปปี้แบบของเก่า ดังนั้นตะเข็บและช่วงลอยต่อ ความยาวจึงไม่เรียบร้อยและไม่ได้ขนาดใส่ไปโรงเรียน บางวันโดนทำโทษหน้าเสาธงเพราะขาสั้นเหนือหัวเขาเกินกว่า ๑ นิ้ว ตอนนั้นระเบียบเข้มงวด ผมก็เช่นกัน หากไว้ผมหน้ายาวเกิน ๓ เซนติเมตร จะถูกเรียกทำโทษหน้าเสาธงที่มีนักเรียนจำนวนมาก เพราะเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดชาย สมัยนั้นนักเรียนนอกรีดนอกรอยจึงไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก) ในขณะที่พ่อเอาตาข่ายดักปลาทั้งตาห่าง ตาถี่ ออกมาซ่อมที่ชำรุด ดูพ่อเป็นช่างฝีมือที่หาตัวจับยาก ละเอียด พิถีพิถัน เอาใจใส่ ปีหนึ่งน้ำท่วมประมาณสองเดือน ตาข่ายจึงได้ใช้เฉพาะช่วงน้ำหลากเพียงปีละครั้ง... ปลาตะเพียน ปลากระสูบตัวใหญ่ที่หลุดออกจากเขื่อนศรีนครินทร์ กาญจนบุรี มีมาก พอตกช่วงหัวค่ำ พ่อและเราพี่น้องจะใช้ตาข่ายดักปลาที่พ่อซ่อมแล้วใส่เรือหาทำเลทองทางสามแพ่ง คลองตัดกันเป็นรูปตัว T สามคนพี่น้องยืนคนละมุมฝั่งคลองที่น้ำท่วมจนมองไม่เห็นตลิ่ง หย่อนตาข่ายลงยังไม่ถึงห้านาที รู้สึกกระตุกถี่ ๆ จนทนไม่ไหว ยกขึ้นมีปลาหลากหลายพันธุ์ ปลากะแห(ตัวเล็ก) ปลาตะเพียนแดง(ตัวใหญ่) ปลาตะเพียนขาว ปลายกราย ปลาแขยง ปลาช่อน ติดกันระโยงเต็มไปหมด ยกใส่เรือและปลดจากตาข่ายอย่างสนุกสนาน ทำอย่างนี้สองสามครั้งเมื่อเห็นว่าเพียงพอจึงกลับบ้าน ส่วนพ่อใช้เรือบดใชนำตาข่ายตาห่าง ผมตกใจว่า พ่อจะเอาไปดักปลาอะไร ตัวใหญ่ขนาดนั้น จะติดได้อย่างไร ออกไปเพียงสองชั่วโมง พ่อก็เรียกให้ช่วย เพราะปลากระสูบตัวใหญ่ขนาดเด็ก 2 ขวบ คำนวณน้ำหนักดูน่าจะใกล้ ๆ สิบกิโลกรัม กลับถึงบ้าน พ่อใช้เชือกไนล่อนเหนียวเส้นเล็กร้อยเหงือกผูกเสาใต้ถุนบ้าน ปี ๆ ได้หลายตัวโขอยู่ มาวันนี้...น้ำที่เคยเป็นความสุขที่รอคอย ถูกมองว่าเป็นภัยที่คลุกคราม และต้องต่อสู้ ในขณะที่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งคราใดที่เกิดสงครามขึ้นระหว่างไทยกับพม่า ยามที่บ้านเมืองอ่อนแอ ก็ได้น้ำนี่แหละเป็นพระเอกช่วยให้พม่ายกทัพกลับ ขืนอยู่ ถูกน้ำท่วมแน่ อีกทั้งยังขาดข้าวปลาอาหาร นี่คงเป็นสาเหตุที่บรรพบุรุษเลือกกรุงศรีอยุธยาอยู่ใกล้แม่น้ำเป็นเมืองหลวง และยึดเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างเมืองมาถึงทุกวันนี้ ผู้คนจำนวนมากมองว่าน้ำ คือปัญหา ทั้ง ๆ น้ำเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อมีมาก ต้องมีการบริหารจัดการ จึงสร้างเขื่อน มากก็ปล่อย น้อยจึงกักเอาไว้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของคนแต่ละกลุ่มกันไป เมื่อก่อนน้ำที่ไหล่บ่าจากทางตอนเหนือจะไหลท่วมทุกจังหวัดในภาคกลาง ขังอยู่สักสองเดือนแล้วลงทะเล มาวันนี้เราพยายามทำทุกอย่างที่คิดว่าจะเอาชนะธรรมชาติ ที่สุดธรรมชาติก็เป็นเหมือนเช่นเคยเป็น เมื่อมีสิ่งกีดขวางธรรมชาติปรับความสมดุล(ตามปัจจัยของเหตุ) จึงท่วมท้นอย่างที่เห็น... พัฒนาการเปลี่ยนสภาพเกษตรเศรษฐกิจ มาเป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ทฤษฎีโลจิสติกส์ที่ดี แหล่งผลิตต้องอยู่ใกล้เมืองหลวงการคมนาคมสะดวก เคลื่อนย้ายสินค้าได้รวดเร็วประหยัด แต่ขาดการคิดแบบองค์รวม จึงเร่งสร้างขยาย ถนน สาธารณูประโภครองรับ นิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมายกินเนื้อที่มหาศาลอย่างรวดเร็ว วันนี้เมื่อน้ำหลากล้นไม่ไหลทันจึงเอ่อท้นท่วมทั่วหน้า กลายเป็นความสูญเสียยิ่งใหญ่จนใคร ๆ เรียก “มหาอุทกภัย ๒๕๕๔” อย่าโทษใครเลย เพราะต่างคนต่างเดินบนถนนของการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน(ทำกรรมร่วมกัน) หลังเหตุการณ์เกิดจะเห็นผู้คนจำนวนมาก ทั้งนักวิชาการ นักปฏิบัติการ ใคร ต่อใครติติง ติเตียน เสนอมากมายจนสับสน ไม่รู้จะฟังใคร จะเชื่อใคร เช่น “ไม่เตรียมแผน ไม่มีแผนสำรอง ไม่เตรียมตั้งแต่แรก” ร้ายกว่านั้นบอกว่า “ไม่ปล่อยน้ำในเขื่อนออกมาตอนก่อนที่ฝนจะตก” ใครจะรู้ไม๊เนี่ย? หลายคนชอบเอาสิ่งที่ผ่านมาแล้ววิภาค ตำหนิติติง เหมือนจะรู้ จะทำได้ หรือเพราะฟังดูดี มันปาก หรือ สะใจ? อย่าว่าแต่ประเทศไทยเลยครับ อเมริกาเอง เกิดพายุ ป้องกันอย่างดี พอฝนตกหนัก ที่กั้นกลายเป็นอ่างเก็บน้ำมหึมาเก็บขังน้ำจำนวนมหาศาล ทำความเสียหายมากมาย ญี่ปุ่นเองก็เห็น ๆ อยู่ เกิดสึนามิ ครั้งที่ผ่านมา ทั้งที่ระบบป้องกันเตือนภัยญี่ปุ่นนำสมัยที่สุดในโลก ระบบป้องกันดีที่สุดในโลก ยังรับไม่อยู่ ตอนนี้อย่าโทษใครเลย เราทำกรรมร่วมกัน เราต้องรับกรรมร่วมกัน(กรรม คือการกระทำทั้งในรูปแบบส่วนตัว และการมีส่วนร่วม ทั้งทางตรงและทางอ้อม) หันกลับมารวมจิตใจ เสียสละ ช่วยเหลือ เมตตา สร้างวินัยให้กับตัวเอง มีจิตสาธารณะและบริการ อันไหนที่เห็นว่าเป็นอุปสรรค์ถ้าเรายื่นมือออกไปช่วยกันคนละนิดละหน่อย ปัญหาอุปสรรคที่ใหญ่หลวงจะเล็กลง หรือหมดไป ปัญหาต่าง ๆ หากมองในมุมบวก มองเป็นประวัติศาสตร์ที่เตือนใจ สร้าง คิด ค้น พัฒนาหาแนวทางใหม่ออกมาทดแทนของเก่า มองอย่างเป็นองค์รวม อย่าหักหารน้ำใจคนทำงานด้วย คำพูด ว่า ติติง ไม่รู้จริง ไม่เคยประสบภัย พอเหตุการณ์เกิดขึ้นผ่านไป ทุกคนดูจะเก่ง รู้หมด ออกมาบอกเป็นช่องเป็นฉาก ชัดเจนเหมือนรู้ว่าจะเกิด เหมือนหมอดูไม่มีผิด หากอยากจะพูดก็พูดในเชิงสร้างสรรค์ เสนอแนะแนวทางที่ดีกว่า(มีเหตุมีผลบนข้อมูลจริง) อย่าพูดถากถางเอามัน สะใจ อารมณ์ ทำให้คนอื่นที่เสียสละท้อแท้ หันกลับมาดูตัวเอง ช่วยตัวเอง ช่วยครอบครัว และช่วยเพื่อนบ้าน เพื่อนมนุษย์ ช่วยสังคม แล้วทุกอย่างจะงอกงาม ไม่มีประเทศไหนที่เจริญก้าวหน้าโดยไม่มีอุปสรรค์ อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมันนี อังกฤษ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ล้วนแล้วแต่พบอุปสรรค์มากมาย เขาปรับพัฒนาจนกลายเป็นประเทศที่เจริญ เพราะอุปสรรค์ทำให้เกิดการคิด ค้น พัฒนา หานวัตกรรมใหม่ ๆ มาทดแทน วันนี้โรงงานอุตสาหกรรมเสียหาย ได้ทีเปลี่ยนเครื่องจักรรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพที่สูงกว่า รวมตัวในนามสมาคมขอรัฐอุดหนุนภาษีนำเข้าเครื่องจักรไม่ต้องแบ่งว่าต้องได้รับการสนับสนุนจาก BOI หรือไม่ ใครที่ถูกน้ำท่วมทั้งเล็กใหญ่ หากต้องการพัฒนาตนเองให้ยืนบนเวทีโลกได้ ให้เปลี่ยนและของดเว้นภาษีเครื่องจักรอุปกรณ์ เพื่อพัฒนาตนเอง ทำให้คุณภาพดีขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนลดลง ขยายตลาดได้มากขึ้น ปีเดียวคุ้มค่ากับการลงทุน... มหาอุทกภัยครั้งนี้ ประเทศไทยเกิด “อัศจรรย์ แห่งพระแม่คงคา” ปรับคุณค่าแห่งความสมดุล ทุกภาคส่วน โทรทัศน์ทุกช่อง หนังสือพิมพ์ทุกหัว ข่าวทุกสาย ทั้งกรุงเทพ และต่างจังหวัด ทหารทุกเหล่าทัพ ทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ ตำรวจ ดารา นักร้อง ประชาชน อาจารย์นักศึกษาจากทุกสถานศึกษา นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เด็กผู้ใหญ่ทุกหมู่เหล่า มูลนิธิต่างๆ หน่วยบรรเทาสาธารณภัย ประชาชนทุกหมู่เหล่า สร้าง “อัศจรรย์แห่งคนไทย” คือ ร่วมจิตสาธารณะบริการ พลังเมตตา ส่งช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยพบ ไม่เคยเห็น ไม่เคยพูดคุย ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา วันนี้ทำงานร่วมกันด้วยความรัก ความสามัคคี อดทน ดูแลซึ่งกันและกัน ห่วงใย ห่วงหา อนาทร ร้อนใจ รับฟัง อดทน อดกลั้น ให้เห็นประจักษ์กันทั้งประเทศ... มหาอุทกภัยครั้งนี้ สร้างโอกาสให้คนไทย รัก สามัคคี ปองดอง ช่วยเหลือ เมตตา มีจิตสาธารณะและบริการ เสียสละ อดทน ยามที่กระแสโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการการพัฒนาด้านวัตถุ ในขณะที่หลายคนเรียกร้องให้พัฒนาจิตใจมนุษย์ที่เริ่มเสื่อมถอย เจริญงอกงามไปพร้อมกัน วันนี้...เห็นชัด ว่ามนุษย์ คือ ส่วนหนึ่งของ “ธรรมชาติ” กำลังปรับความสมดุลให้ลงตัว จากคนที่ถอยเสื่อมโทรมด้านจิตใจ...กลับเสียสละ ช่วยเหลือ เห็นใจ เมตตาซึ่งกันและกัน เปี่ยมล้นด้วยจิตสาธารณะบริการ สรรสร้างคุณธรรมเป็นกรอบก่อเกิดจริยธรรมของคนให้งอกงามอย่างพอเหมาะพอดี ด้วย “แม่พระคงคาสร้างคุณค่าแห่งความสมดุล”